หน้าแรก > ความรู้สำหรับผู้ปกครอง

ทำอย่างไรลูกจะไม่เสียคน
<div div="" center;"="">
ท่ามกลางสังคมที่ปะปนด้วยทั้งสิ่งดี และเลวนี้ นับวันคุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งมีความรู้สึกเป็นห่วงลูกมากขึ้น กลัวว่าลูกจะไปติดเชื้อเลวมา แล้วก็จะทำให้ลูกเอาตัวไม่รอด หรือเอาดีไม่ได้ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะป้องกันลูกของเราได้อย่างไร และจะปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกของเราได้อย่างไร
                เข้าใจหลักการถ่ายทอดนิสัย  การจะปลูกฝังคุณธรรมความดีให้ลูกนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของการถ่ายทอดนิสัยไปให้ลูก มีอยู่ 2 ช่วง ได้แก่
                ช่วงแรก   การถ่ายทอดลักษณะนิสัยทางกรรมพันธุ์การถ่ายทอดลักษณะนี้ ต้องทำในช่วงตั้งแต่ลูกยังไม่มาเกิด โดยทั่วไปเมื่อปฏิสนธิ วิญญาณจะมาเกิดในครรภ์ของผู้ใดเขาจะมีกรรม คือบุญ หรือ บาป ใกล้เคียงกับผู้ที่จะเป็นพ่อ เป็นแม่ ในขณะนั้น  ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ มีร่างกายแข็งแรง มีความประพฤติดี มีจิตใจดีงามแล้ว
ก็มีโอกาสที่จะได้ปฏิสนธิวิญญาณที่ดีมาถือกำเนิดอยู่ในครรภ์ คุณแม่ต้องอบรมความประพฤติของตัวเองให้ดีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ รักษาศีล 5 ให้ดี เป็นการเตรียมพร้อมให้ปฏิสนธิวิญญาณที่ดีมาเกิดและทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ต้องพยายามทะนุถนอมลูกในครรภ์มีความระมัดระวังตัวให้มาก การเคลื่อนไหวทุกๆอิริยาบถ อาหารที่รับประทาน
งดอาหารรสจัด ของหมักดอง  ควบคุมอารมณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่ออุปนิสัย ของเด็กทั้งสิ้น
                ช่วงที่สอง  คือการถ่ายทอดนิสัยเมื่อลูกคลอดออกมาลืมตาดูโลกต้องเริ่มอบรม อย่าคิดว่าเด็กทารกไม่รู้อะไรการให้นมตรงเวลา ก็เป็นการเพาะนิสัยเด็กให้เป็นคนตรงต่อเวลา  การเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่เด็กทำเปียก ก็เป็นการเพาะนิสัยรักความสะอาด  การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ก็เป็นการเพาะนิสัยอ่อนโยน
                การรักลูกให้ถูกวิธี ไม่มีอะไรเกินการถ่ายทอดคุณธรรมดีๆ ให้แก่ลูก คุณธรรมที่ต้องอบรมให้มาก         ไม่ว่าเด็กโต หรือเด็กเล็ก ก็คือ
        1.ปัญญา  ฝึกให้เป็นคนมีเหตุผล รู้จักคิดพิจารณา ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เด็กจะมีสติปัญญาเฉียบแหลม และ   ไม่เห็นผิดเป็นชอบ
        2.ความมีวินัย  ฝึกให้เป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ รักษาความสะอาดเป็นคนซื่อตรง มีความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ
        3. ความเมตตากรุณา  ฝึกให้เด็กรักสัตว์ รักต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นคนอ่อนโยนมีมนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักให้อภัย
                เมื่อเด็กได้รับการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เล็กแล้ว โตขึ้นก็จะสามารถรองรับ คุณธรรมความดีอย่างอื่นที่พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ได้อย่างเต็มที่
                ฝึกลูกให้ประหยัด หลักประกันอนาคต สิ่งที่เป็นสัญญาณบอกว่า อนาคตของลูกจะตั้งหลักฐานให้มั่นคงได้ คือ ความประหยัด แต่การจะเพาะนิสัยประหยัดให้ลูกนั้น พ่อแม่ต้องมีวิธีการที่เหมาะสม โดยมีหลักการอยู่ว่า ลูกจะมีนิสัยประหยัดได้ เมื่อพ่อแม่ประหยัดเป็นแบบอย่างให้ลูกดูเสียก่อน และต้องทำตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ
                1. ฝึกลูกให้รู้จักคุณค่าของเงิน เมื่อลูกขอเงิน ต้องซักถามให้ละเอียดก่อนว่าจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร มีความจำเป็นแค่ไหน ถ้าลูกขอโดยไม่มีเหตุผล ก็ไม่ควรให้ต้องชี้แจงให้ลูกทราบด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ให้ แม้ลูกจะไม่พอใจก็ทำใจแข็งไว้ อย่าให้เงินลูกเพื่อตัดความรำคาญ  ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่พ่อแม่หามาได้
หมายถึงหยาดเหงื่อแรงกายของพ่อแม่ ลูกจะได้รู้คุณค่าของเงิน และใช้อย่างคุ้มค่า
                2. ฝึกให้เว้นของฟุ่มเฟือย  สิ่งใดเป็นของฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น พ่อแม่อย่าซื้อให้ลูกฝึกให้ลูกรู้จักใช้ของอย่างคุ้มค่า ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่ใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ เมื่อของเสียหายต้องสอนให้รู้จักซ่อมแซมของนั้นด้วยตนเอง และหาวิธีอธิบายให้ลูกรู้ว่า ของดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง
                3.ฝึกให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  สอนลูกให้รู้จักทำของใช้ หรือของเล่นรูจักประดิษฐ์หรือประกอบจากชิ้นส่วนเอง เป็นการเสริมสร้างปัญญา รู้จักช่วยตัวเอง และมีความภาคภูมิใจ กำลังใจสูงขึ้น นอกจากนั้นควรฝึกให้ลูกรู้จักวิธีตัดทอนงบประประมาณค่าใช้จ่ายของลูกเอง เพื่อลูกจะรู้จักวิธีอดออม และรู้จักทำงานหาเงินได้ด้วยตนเอง
                4. ฝึกลูกให้รู้จักเก็บออมทรัพย์ และแนะนำให้คบเพื่อนที่มีนิสัยประหยัด  สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงิน เก็บเงินที่เหลือจากค่าขนม หรือค่าใช้จ่ายประจำเก็บออมทรัพย์  ใส่กระป๋องออมสิน หรือไปฝากธนาคาร แนะนำให้คบเพื่อนที่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ช่วยพ่อแม่ทำงาน แบ่งเบาภาระทางบ้าน จะได้ชวนกันประหยัดและชวนกันไปในทางที่ดี ที่สำคัญคือเป็นการป้องกันลูกให้ห่างจากคนพาล และอบายมุขซึ่งเป็นศัตรูร้ายของความประหยัดที่แสนน่ากลัว
                5. ฝึกให้ลูกรักษาศีล  เพื่อให้ลูกรู้ว่าการรักษาศีล 5 เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตประจำวัน พ่อแม่ต้องรักษาศีลเป็นตัวอย่างให้ลูก แต่ถ้าจะให้ดีควรรักษาศีล 8 ทุกวันพระ  จะทำให้รู้ว่า บางสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับชีวิตนั้น แท้จริงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น การดูหนังดูละคร แต่งหน้า ทาปาก แต่งตัวตามแฟชั่น สิ่งเหล่านี้ เมื่อทดลองรักษาศีล 8 สักระยะหนึ่งจะรู้ด้วยตนเองว่า ไม่จำเป็นเลย จะช่วยให้มีนิสัยประหยัด และรู้จักประมาณตนเพื่อการดำรงชีวิตได้เอง หากทุกครอบครัวทำได้อย่างนี้ย่อมเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ของครอบครัวต่อไปภายหน้า ทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่มอบให้เป็นมรดก ก็จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางวอดวายเสียหาย หรือถึงแม้พ่อแม่อาจจะไม่มีทรัพย์สมบัติมอบเป็นมรดกให้เขาเลยก็เป็นอันมั่นใจได้ว่า เขาจะสามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองได้อย่างแน่นอนเพราะจุดรั่วไหลทางอบายมุขไม่มี
 
4. บทบาทของ พ่อแม่ ได้ลูกดี
         พ่อแม่ทุกคน ล้วนคาดหวังอยากจะเห็นลูกของตนเอง มีอนาคตที่สดใส แต่การ ปูพื้นฐานลูกให้มีนิสัย ที่เหมาะแก่การจะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตนั้น พ่อแม่จะต้องรู้จักวางบทบาทของตนเองในการปกครองลูกให้เหมาะสม ลูกจึงจะได้ต้นแบบที่ดีการจะวางตัวให้เหมาะสมในการอบรมบ่มนิสัยลูกนั้น พ่อแม่ที่ดีต้องเข้าใจสภาวะ
จิตใจของลูกรู้ว่าความรู้สึกนึกคิดของลูก จะเปลี่ยนแปลงตามวัย และสิ่งแวดล้อม
          เมื่อลูกยังเล็กอยู่ พ่อแม่จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของลูก ครั้นโตขึ้น เพื่อนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ความสำคัญของพ่อแม่จะลดลงเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ ลูกจะเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความมีอิสระ ต้องการเหตุผลมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จำเป็นจะต้องปรับตัวเองให้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของลูก และต้องวางบทบาทต่อไปนี้ให้ดี
                1.บทบาทของความเป็นครู  พ่อแม่ต้องอบรมสั่งสอนลูก ชี้แจงให้ลูกรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร ไม่ควร ถ้าลูกยังเล็ก สอนกันด้วยเหตุผลยังไม่ได้ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดูเป็นแบบอย่าง การอบรมสั่งสอนจะต้องนุ่มนวลค่อยพูดจาปราศรัย ไม่เอาแต่อารมณ์ ต้องปลูกฝังนิสัยรักความสะอาดให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กฝึกให้รู้จักดูแลรักษาความสะอาดของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า การอาบน้ำ สระผมการจัดเก็บที่นอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมไปถึงการสร้างนิสัยที่ดีในการดำรงชีวิต
             เนื่องจากพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ใกล้ชิดลูกตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นควรปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อให้เป็นพื้นฐานความประพฤติ เมื่อโตขึ้นจะเป็นเหตุให้เขาสามารถรองรับความดีมาใส่ตัวได้เร็ว และรังเกียจความไม่เข้าท่าเข้าทางต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาได้เองโดยอัตโนมัติ
                2.บทบาทเทวดา พ่อแม่ต้องมีพื้นฐานทางธรรมที่ดี จึงจะเล่นบทนี้ได้ เพราะต้องฝึกลูกให้รู้จัก รักบุญ กลัวบาป อาจทำได้ง่ายๆ เช่น อ่านนิทานชาดกให้ลูกฟัง สวดมนต์ทุกคืนก่อนเข้านอน สอนลูกให้รู้จักการทำบุญให้ทาน โดยพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องมีหิริโอตัปปะ เมื่อสอนลูกไม่ให้ทำชั่วในเรื่องใดแล้ว ก็อย่าเผลอทำความชั่วนั้นๆ ให้ลูกรู้เห็นเสียเอง
                3.บทบาทพระพรหม พ่อแม่ต้องมีความเมตตากรุณาต่อลูก ให้ความรักความอบอุ่น เมื่อลูกทำผิดต้องตักเตือนสั่งสอนดีๆ ให้ลูกรู้ผิดรู้ถูก ให้อภัยไม่ซ้ำเติมเมื่อลูกทำดีก็ชมเชย ควรปล่อยตามใจลูกบ้าง อย่าบงการบังคับ แต่คอยให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ให้กำลังใจ พ่อแม่ต้องมีอุเบกขา ไม่ลำเอียงเข้าข้างลูกเมื่อทำผิด
                4. บทบาทพระอรหันต์ พ่อแม่ต้องประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรมให้ดีที่สุดจะได้เป็นปูชนียบุคคล เป็นพระในบ้าน ต้องสร้างทั้งบุญ บารมี ศักดิ์ศรี ชื่อเสียงลูกหลานจะได้ยำเกรง นับถือเชื่อฟัง ไม่กล้าทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลังเมื่อพ่อแม่ทำได้ครบทั้ง 4 อย่างดีแล้ว ชีวิตครอบครัวก็จะเป็นสุขมีแต่ความร่มเย็นกายและใจ ย่อมส่งผลไปถึงสังคมและประเทศชาติให้ร่มเย็นไปด้วย
 
 
              จาก " สื่อส่งเสริมศีลธรรมเพื่อครอบครัวอบอุ่น อันดับที่ 1 " โดย. ส. ผ่องสวัสดิ์